เปิด-ปิด ตามเวลา พระอุโบสถ สำหรับกราบไหว้ หรือแก้บน
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 7.00 - 16.00 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 7.00 - 16.30 น.
วัดหลวงพ่อโสธรวราราม วรวิหาร
เวลา เปิด-ปิด พระอุโบสถ สำหรับกราบไหว้ หรือแก้บน
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 7.00 - 16.00 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 7.00 - 16.30 น.
สามารถแก้ได้ปกติตาม เวลา เปิด-ปิด พระอุโบสถ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 7.00 - 16.30 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 7.00 - 17.00 น.
-
ไม่อนุญาตให้ผู้แต่งกายไม่สุภาพเข้าภายในอุโบสถ เช่นใส่เสื้อบาง เสื้อแขนกุด
เสื้อรัดรูป เสื้อเอวลอย เสื้อเว้าไหล่ สายเดี่ยว เสื้อกล้าม เสื้อเอวจั๊ม
กระโปรงบาง ซับในไม่คลุมเข่า กางเกงแฟชั่น กรีดขากางเกง กางเกงขาด กางเกงรัดรูป
ทางวัดจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเช็ค และมีชุดคลุมให้สวมทับ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
- ควรถอดหมวกก่อนเข้าไปภายในโบสถ์
- ไม่อนุญาตให้นำ น้ำมนต์ น้ำมัน น้ำดื่ม ไข่ต้ม ผลไม้ สัตว์ปล่อยทุกชนิด
เข้าไปภายในพระอุโบสถ
- ไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนบูชาพระภายในพระอุโบสถ ให้ถวายดอกไม้ได้เท่านั้น
- ไม่อนุญาตให้นำรองเท้าใส่ถุง หรือกระเป๋า เข้าไปภายในพระอุโบสถ
(ด้านหน้ามีที่วางรองเท้า และฝากรองเท้า)
- ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปภายในพระอุโบสถ
- มีจุดที่ให้ถวายสังฆทานกับพระสงฆ์
พร้อมรับน้ำมนต์
แหล่งที่มาของข้อมูล www.ceediz.com
ช่วงวันหยุด
เสาร์ - อาทิตย์
และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นช่วงที่มีผู้คนมาไหว้พระ และมาแก้บนที่วัดกันมาก
ค่อนข้างรถติด และวุ่นวาย หากต้องการหลีกเลี่ยง ควรมาถึงในช่วงเช้ามากๆ (7.00 น.)
หรือช่วงบ่ายๆ ตั้งแต่ประมาณบ่าย 3 โมงไป (ช่วงเริ่มเปิด และตอนใกล้ปิด)
หากมาวัดในวันธรรมดา ช่วงโรงเรียนเปิดเทอมควรมาช่วงสาย
(นักเรียนเข้าโรงเรียนไปแล้ว) จนถึงก่อนบ่ายสาม หรือก่อนโรงเรียนเลิก
ควรระวังทรัพย์สิน ของมีค่า กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ เก็บไว้ในกระเป๋า
แล้วสะพายไว้ด้านหน้าตลอดเวลา เพราะอาจมีมิจฉาชีพ ล้วงกระเป๋า
ขโมยทรัพย์สินขณะไหว้พระ หรือขณะเดินในกลุ่มคนเยอะๆ (โดยเฉพาะวันหยุด คนจะแน่นมาก)
ในวันหยุด บริเวณที่จุดธูปเทียนหน้าวิหารจำลอง มักจะมีผู้คนมากมาย
เบียดเสียดกัน ควรระวังเรื่องการจุดธูปเทียนบูชาพระด้วย
ทั้งจากธูปเทียนที่จุดแล้วไปไหม้โดนผู้อื่น และระวังธูปเทียนผู้อื่นมาไหม้เราด้วย
เมื่อจุดธูปเทียน และเติมน้ำมันตะเกียงแล้ว ให้ปักธูปเทียน
ถวายดอกไม้ในกระถางที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นเข้าไปกราบสักการะ
ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และปิดทองด้านในวิหาร
(ภายในวิหารไม่อนุญาตให้นำธูปเทียนเข้าไป ยกเว้นเครื่องแก้บน)
หากมีเด็กเล็กมาด้วย ควรให้เด็กอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองตลอดเวลา
เพื่อป้องกันการพลัดหลง หรืออันตรายจากการจุดธูปเทียน
หากต้องการซื้อดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องบูชา
ควรซื้อที่จุดจำหน่ายที่เป็นของวัดโดยตรง เพื่อเป็นการทำบุญสนับสนุนวัด
ควรระวัง ไม่หลงเชื่อผู้ที่ไม่หวังดี หลอกให้ซื้อดอกไม้ ธูปเทียน
เครื่องสักการะ หรือเครื่องแก้บนด้วยราคาที่แพงเกินไป
หากซื้อไข่ต้มจากบริเวณหน้าวัด ควรดูร้านที่น่าเชื่อถือ ร้านที่มาจากฟาร์มไข่
จะได้ไข่ใหม่ ไม่มีการนำมาวนขาย
ของแก้บน (เช่นไข่ต้ม) เมื่อถวายจนธูปหมด หรือประมาณ 30 นาที
ควรลาของถวายแล้วนำกลับไปด้วย
ของแก้บนที่ถวายเสร็จแล้วสามารถนำกลับไปทาน หรือแจกจ่ายญาติมิตร เพื่อนฝูง
เพื่อนบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือบริจาคผู้ขาดแคลนยากไร้ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
เพื่อเป็นทานที่เกิดประโยชน์ ไม่ควรทิ้งไว้ที่วัด
เพราะอาจมีผู้นำไปใช้วนขายให้กับผู้อื่นได้
หากต้องการรับประทานอาหาร ฝั่งตรงข้ามวัด มีร้านขายอาหารมากมาย (หลายคนบอกว่า
หอยทอดอร่อย) ทั้งอาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง หรือจะซื้อของกินเล่น ของขบเคี้ยว
ของฝากต่างๆ ก็มี
หากต้องการไปเที่ยววัดสมานรัตนาราม ตรงข้ามวัด มีคิวรถตู้ไป (ไป-กลับคนละ 100
บาท)
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- วิหารจำลอง
- พระอุโบสถหลังใหม่
- โรงเจริมน้ำด้านหลัง (ทำบุญโลงศพ)
- ล่องเรือไปตลาดบ้านใหม่
ข้อมูลและแหล่งที่มา www.ceediz.com
สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อแก้บนด้วยไข่ต้ม
วิธีการแก้บน หลวงพ่อโสธร ด้วยไข่ต้ม
- ดอกไม้ ธูปเทียน
(ซื้อได้จากจุดจำหน่ายของทางร้าน)
- ไข่ 99 ฟอง มากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับจำนวนที่บนไว้ (จะนำมาเอง
หรือจะมาซื้อแถววัด ก็มีแม่ค้านำมาจำหน่ายหลายร้าน
บางร้านแถมตะกร้าใส่ไข่ให้ฟรีด้วย)
- น้ำปลาขวดเล็กๆ
- น้ำเปล่า 1 ขวด (ขณะถวายจะเปิดฝาแล้วใส่หลอดไว้ด้วยก็ได้)
- น้ำมันพืช ใช้เติมตะเกียง สำหรับผู้ที่มีความเชื่อว่าการเติมน้ำมันตะเกียง
จะทำให้ชีวิตสว่างไสว (จะนำมาเองหรือมาซื้อที่วัดก็ได้)
วิธีแก้บนคือ ปอกไข่ 3 ใบ เปิดฝาน้ำปลา เปิดฝาขวดน้ำ แล้วจุดธูป 3 ดอก
(หากมาบนให้จุดธูป 9 ดอก)
แล้วจึงอธิษฐานจิตบอกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าได้นำสิ่งที่บนบานสานกล่าว
มาถวายตามที่เคยบนไว้แล้ว จากนั้นรอจนธูปหมด หรือประมาณ 30 นาที จึงลาของที่บนไว้
โดยกล่าวว่า "เสสัง มังคลา ยาจามิ" (ขออาหารที่เป็นมงคลให้แก่ข้าพเจ้าเถิด)
แล้วจึงนำของแก้บนกลับบ้านไปรับประทานหรือแจกจ่าย
การแก้บนด้วยละครรำ
บริเวณศาลาหน้าวิหารหลวงพ่อ มีคณะละครรำ ราคาคิดตามจำนวนนางรำในแต่ละรอบ
มีชุดเล็ก 4 คน ชุดกลาง 6 คน และชุดใหญ่ 8 คน (ราคา 300 - 600
บาท)
แหล่งที่มาของข้อมูล www.ceediz.com
หลวงพ่อพระพุทธโสธร
พระคาถาบูชาหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา
ก่อนจะภาวนา คาถาหลวงพ่อโสธร ต้องบูชาพระรัตนตรัยเสียก่อน แล้วจึงกล่าวคำบูชาเฉพาะ
คาถาบูชาหลวงพ่อโสธร ระลึกถึงองค์ท่านโดยมองพระพุทธรูปหลวงพ่อพระพุทธโสธร
ภาพถ่ายหรือพระเครื่องที่มี
ถ้าไม่มีให้กำหนดภาพของท่านขึ้นในจิตของเราเป็นพุทธานุสสติกรรมฐานไปในตัว
กาเยนะ วาจายะ เจตสา วา โสธะรัง นามะ
อิทธิปะฏิหาริกะรัง พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิ สัพพะโสฯ
ท่อง3จบ
คาถาบูชาหลวงพ่อโสธร ท่องนะโม 3 จบ แล้วกล่าวคำบูชา
นะ ทรงฟ้า โม ทรงดิน พุทธ ทรงสินธุ์ ธา ทรงสมุทร ยะ ทรงอากาศ
พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด ศัตรูพาลวินาศสันติ
นะ กาโร กุกกุสันโธ สิโรมัชเฌ โมกาโร โกนาคะมะโน
นานาจิตเต พุทธกาโร กัสสะโป พุทโธ จะ ทะเวเนเต ธา กาโร ศรีศากกะยะมุนี
โคตะโม ยะกันเน ยะกาโร อะริยะ เมตตรัยโย ชิวหาทีเต ปัญจะพุทธา นะมามิหัง
พุทธะบูชา มะหาเตชะวันโต ธัมมะบูชา มะหาปัญโญ สังฆะบูชา มะหาโภคะวะโห
อะระหังพุทโธ อิติปิโสภะคะวา นะมามิหัง
คาถาบูชาหลวงพ่อโสธร แบบย่อ
ท่องนะโม 3 จบ แล้วกล่าว
อิติ อิติ อิติ โสธโร นะโมพุทธายะ ยะธาพุทธโมนะ
ว่าคาถาบูชาพระพุทธโสธร นี้ทุกวันระลึกถึงองค์หลวงพ่อโสธร
วัดโสธรวรารามวรวิหารจะปลอดภัย ร่มเย็นเป็นสุขตลอดไปชีวิตราบรื่น
เดินทางแคล้วคลาดภยันตรายต่างๆ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดหงษ์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ
หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง
ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อพุทธโสธร
เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ มีรูปทรงสวยงามมาก
ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้
แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน
แต่เดิม หลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก
รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้
มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระพรหมคุณาภรณ์(จริปุณโญ ด. เจียม
กุลละวณิชย์)
อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง
และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ
พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม
ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 [1]
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม
โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร
และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ [1]
ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร
ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง
และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร
จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล
โดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ
เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดที่มีผู้คนมาอธิษฐานขอพรกันเป็นจำนวนมาก
จึงทำให้ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
และวัดหยุดนักขัตฤกษ์จะมีผู้คนแวะเวียนกันมาหนาแน่นตลอดทั้งวัน
หากใครประสบผลสำเร็จในคำขอพร คำบนบาน ก็มักจะมาแก้บนกันด้วยไข่ต้ม หรือ ละครรำ
แต่ไข่ต้มนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก
จนทำให้การถือตะกร้าไข่ต้มในวัดแห่งนี้เป็นเรื่องปกติไปเลย
ทางวัดมีโซนจอดรถบริเวณด้านหลังวัด โดยมีพื้นที่จอดค่อนข้างกว้างขวาง
สามารถรองรับผู้คนได้เป็นจำนวนมาก
แต่หากมีผู้นมาเกินกว่าที่พื้นที่ของทางวัดรองรับได้
ก็สามารถจอดรถฝั่งตรงข้ามที่เป็นส่วนของโรงเรียนได้
ลำดับเจ้าอาวาส
พระอาจารย์อ้น ตั้งแต่ 2405-2412
พระอาจารย์จู ตั้งแต่ 2412-2418
พระอาจารย์ปาน ตั้งแต่ 2418-2450
พระอาจารย์หลิน ตั้งแต่ 2458-2452
พระอาจารย์กาด รักษาการตั้งแต่ 2482-2484
พระครูอุดมสมณคุณ ตั้งแต่ 2484-2488
พระมหาก่อ เขมทสฺสี ตั้งแต่ 2488-2492
พระเขมารามมุนี ตั้งแต่ 2492-2502
พระราชเขมากร ตั้งแต่ 2502-2506
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร รักษาการตั้งแต่ 2506-2507
พระพรหมคุณาภรณ์ (เจียม) ตั้งแต่ 2507-2540
พระราชมงคลวุฒาจารย์ (สุธีร์) ตั้งแต่ 2541-2547
พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร รักษาการตั้งแต่
2547-2552
พระธรรมมังคลาจารย์ วิ. (ประยงค์ ปิยวณฺโณ) ตั้งแต่
2552-ปัจจุบัน
แหล่งที่มา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อ้างอิง
วัดโสธรวราราม วรวิหาร, กองบรรณาธิการ จดหมายข่าว วสท., ฉบับที่ 5 ตุลาคม 2551
ความสูงของหลวงพ่อโสธรประมาณ 1.98 เมตร (ในบทความสูง 1.48 เมตร)
"หลวงพ่อโสธร"
ไม่มีใครทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จาก "ตำนานพระพุทธรูป 3 พี่น้อง**"
เล่าต่อกันมาว่า มี 3 พี่น้องชาวล้านนา ที่อยู่ทางเหนือของไทย บวชเป็นพระภิกษุ
และบำเพ็ญเพียรภาวนาจนมีฤทธาปาฏิหารย์ ได้จำแลงแปลงกายเป็นพระพุทธรูป
แล้วลอยตามลำน้ำลงมาทางใต้ เมื่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์
ล่องมาถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า "สามเสน"
ได้ปรากฏให้ชาวบ้านได้เห็น ชาวบ้านจึงพยายามช่วยกันฉุดพระพุทธรูปทั้ง 3
องค์ขึ้นจากน้ำ กล่าวกันว่าใช้คนเป็นแสนก็ไม่สำเร็จ ต่อมาบริเวณจึงถูกเรียกว่า
"สามแสน"และเพี้ยนมาเป็น สามเสน ในปัจจุบัน
หลังจากที่พระพุทธรูปโผล่มาปรากฏให้เห็นที่สามเสนแล้ว ก็จมหายลงน้ำไป
จากนั้นก็ลอยเข้าสู่คลองพระโขนงลัดเลาะไปสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณวัดสวนพริกนอก
(ปัจจุบันคือวัดสัมปทวนนอก) และได้แสดงปาฏิหารย์ด้วยการโผล่ขึ้นมา
ลอยทวนกระแสน้ำให้ชาวฉะเชิงเทราได้เห็น ชาวบ้านพยายามชักลากนำพระพุทธรูปทั้ง 3
ขึ้นฝั่ง แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ก็นำขึ้นจากน้ำไม่ได้
จนในที่สุดพระพุทธรูปทั้งสามก็จมหายลงไปในแม่น้ำอีกครั้ง
หลังจากนั้นชาวบ้านได้เรียกวัดสวนพริกว่า "วัดสามพระทวน"
(ในความหมายที่ว่ามีพระสามองค์ลอยทวนน้ำ) ต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนไปเป็นคำว่า
"วัดสัมปทวน**" ซึ่งปัจจุบันวัดสัมปทวน อยู่ในตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง
จังหวัดฉะเชิงเทรา
ต่อมาพระพุทธรูปทั้งสาม ได้ลอยไปตามลำน้ำบางปะกง
แล้วปรากฏให้ชาวบ้านได้เห็นอีกหลายครั้ง ทั้งบริเวณตำบลบางพระ
และคุ้งน้ำบริเวณกองพันทหารช่างที่ 2 รักษาพระองค์ (ค่ายศรีโสธร)
ซึ่งพระพุทธรูปได้ปรากฏให้เห็นวนเวียนอยู่ในบริเวณนี้หลายครั้ง
จนชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า "แหลมหัววน"
จนกระทั่งพระพุทธรูปปางสมาธิกับพระพี่น้องอีก 2 องค์
ได้ลอยผุดขึ้นมาที่ท่าน้ำบริเวณวัดหงส์
ครั้งนี้ชาวบ้านได้นำอาจารย์ผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์
มาประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำ โดยตั้งปรัมพิธีบวงสรวง
แล้วนำด้ายสายสิญจ์คล้องไว้ที่พระหัตถ์ของหลวงพ่อ ให้ชาวบ้านช่วยกันจับสายสิญจ์
ตั้งจิตอธิษฐาน และทำการอัญเชิญพระพุทธรูปปางสมาธิขึ้นจากน้ำได้สำเร็จ
ซึ่งตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ.2313 และได้นำมาประดิษฐานไว้ที่
วัดโสธรวรวิหาร ส่วนพระพุทธรูปอีก 2 องค์นั้นก็ได้จมหายลอยตามน้ำไป
**
ตำนานพระพุทธรูป 3 พี่น้อง เป็นประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูป 3
องค์ที่ลอยมาตามแม่น้ำ เมื่ออัญเชิญขึ้นฝั่งได้
ก็จะนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบริเวณที่นำพระขึ้นจากน้ำ ได้แก่
- หลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ประดิษฐานที่
วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จังหวัดสมุทรสงคราม
- หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปปางสมาธิ ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง ประดิษฐานที่
วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
- หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ประดิษฐานที่
วัดบางพลีใหญ่ใน (วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม) จังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกสององค์ ที่ลอยมาตามลำน้ำไปโผล่ตามจุดต่างๆ
บางตำนานจึงได้รวมเข้าด้วยกัน กลายเป็นเรื่องราวของ พระพุทธรูป 5 พี่น้อง
ที่อาจมีเรื่องราวที่ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง พระพุทธรูปอีก 2 องค์ดังกล่าวคือ
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี
ประดิษฐานที่ วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี
ประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
จากตำนานที่กล่าวมา สันนิษฐานได้ว่า เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
บ้านเมืองถูกเผา ชาวบ้านต้องหนีเอาตัวรอด และไม่อาจรักษาพระพุทธรูปเอาไว้ได้
จึงนำใส่แพไม้ไผ่ผูกล่องมาตามน้ำ เพื่อไม่ให้ข้าศึกทุบทำลาย
ด้วยน้ำหนักขององค์พระทำให้พระพุทธรูปลอยผลุบโผล่อยู่ในน้ำ
ผู้พบเห็นจึงถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์
แหล่งที่มาข้อมูล www.ceediz.com